




พิธีกรรม ความเชื่อ และ ประเพณีที่ใช้ในการปลูกข้าวนา
พิธีกรรมก่อนการเพาะปลูกข้าว
พิธีเลี้ยงขุนผีขุนน้ำ
การเลี้ยงผีขุนน้ำ คือ การทำพิธีสังเวยผีหรือเทวดาอารักษ์ ผู้เป็นหัวหน้าของผีอารักษ์ทั้งหลายที่ทำหน้าที่ ปกปักรักษาป่าต้นน้ำ เป็นการขอบคุณเทวดาที่บันดาลให้มีน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรม และยังเป็นการขอให้ผีประจำขุนน้ำบันดาลให้ฝนตกและมีน้ำจากขุนน้ำหรือต้นน้ำนั้นลงมาสู่พื้นราบได้
ผีขุนน้ำเป็นอารักษ์ประจำต้นน้ำแต่ละสาย ซึ่งสิงสถิตอยู่บนดอยสูงอันเป็นต้นแม่น้ำทั้งหลายที่มักจะอยู่ตามใต้ต้นไม้ใหญ่ ๆ ความสำคัญของพิธีเลี้ยงขุนผีขุนถ้ำเพื่อแสดงความขอบคุณผีขุนน้ำที่ปกปักรักษาป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธารให้ชาวบ้านมีน้ำเพื่อใช้ในการทำการเกษตร เช่น การทำนา การทำไร่ และเป็นการเตรียมตัวเพื่อรับฤดูการทำการเกษตรและร่วมมือกันในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของการใช้น้ำ โดยช่วยกันขุดลอกเหมืองฝาย จัดเตรียมอุปกรณ์ในการทำการเกษตรให้พร้อม และยังได้มีการกล่าวถึงพิธีเลี้ยงขุนผีขุนน้ำว่า “พิธีเลี้ยงขุนผีขุนน้ำ เลี้ยงเดือน 8 ทำก่อนการปลูกในเดือน 8 ก่อนฝนจะมา โดยชาวนาจะหาวันที่เป็นมงคล คือ ขึ้น 15ค่ำ เดือน8 และจะทำพิธีพร้อมกันหมดทุกคนซึ่งจะเป็นการช่วยกันทำ ในพิธีกรรมจะมีการทำพิธีขอฝน มีการฟังธรรม อุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวรและบอกกล่าวแก่พระแม่คงคาให้ได้รับรู้และบอกกล่าวแก่เจ้าที่เจ้าทาง ผีขุนน้ำและเชิญมาในพิธีกรรมเพื่อขอให้ฝนตกตามฤดูกาล”
เครื่องสังเวยผีขุนน้ำประกอบด้วยเทียน 4 แท่ง , ดอกไม้ 4 กรวย , พลู 4 กรวย , หมาก 4 ขดหรือ 4 ท่อน , ช่อหรือธงสามเหลี่ยมขนาดเล็กสีขาว 8 ช่อ , มะพร้าว 2 ทะลาย , กล้วย 2 หวี , อ้อย 2 ท่อน , หม้อใหม่ 1 ใบ แกงส้มแกงหวาน อาหาร 7 อย่าง หัวหมู เหล้าไห ไก่คู่ (ไก่ต้ม 1 คู่ เหล้าขาว 1 ขวด) ทั้งให้มีเมี่ยงบุหรี่ครบถ้วน เมื่อเตรียมการพร้อมแล้ว อาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะทำพิธีอัญเชิญเทวดาอารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ประจำรักษาขุนน้ำให้มารับเครื่องสังเวย พร้อมทั้งใช้ถ้อยคำเป็นโวหารอ้อนวอนขอให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์และมีฝนตกต้องตามฤดูกาลเมื่อประกอบอาหารเสร็จแล้ว อาจารย์ผู้ประกอบพิธีก็จะนำชิ้นลาบแกงอ่อมและเหล้าขาวทั้งขวด ข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน และกระทงหรือสะตวง ที่มีเครื่องเซ่นอยู่ภายในไปทำพิธีบวงสรวงหรือเลี้ยงผี ขณะที่ยกไปเลี้ยงบนหอผีอาจารย์ผู้ทำพิธีจะกล่าวคำอัญเชิญผีมากินโภชนาหารที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยง
พิธีกรรมช่วงเพาะปลูกข้าว
พิธีแรกไถนา (แฮกนา)
พิธีแรกไถนา หรือพิธีแอกนา เป็นพิธีกรรมที่ทำก่อนเริ่มไถนา โดยทำกันในแต่ละครอบครัวเพื่อเป็นการบวงสรวงหรือบูชาเทพพญาดาที่คุ้มครองเกี่ยวกับการทำนา คือ ท้าวจตุโลกบาลและแม่โคสก (แม่โพสพ) แม่ธรณี เพื่อให้เกิดสิริมงคล ให้การไถ่นาเป็นไปด้วยดี ช่วยให้กล้าในนาพ้นจากสัตว์ที่จะมาเบียดเบียนทำลายและเพื่อขอให้ผลผลิตงอกงาม ในการประกอบพิธีแฮกนาต้องตรวจหาวันดีตามความเชื่อของชาวเหนือ แต่โดยทั่วไปที่ง่ายก็จะถือเอาวันอาทิตย์หรือวันพฤหัสบดี
ชาวบ้านจะประกอบพิธีแรกไถนาเพื่อบูชาแม่โพสก แม่ธรณีและผีนา เพื่อขอให้ช่วยดูแลต้นข้าวให้เจริญงอกงามปราศจากศัตรูพืชและขอให้ได้ข้าวที่มีผลผลิตจำนวนมาก โดยตั้งค้างข้าวแฮกในบริเวณหัวนา มีลักษณะเป็นเสาหรือหอบูชาเท้าจตุโลกบาล ใช้ลำไม้ไผ่ผ่าเป็นซีก ฝัง 4 มุมและตรงกลาง 1 อัน วางตะแกรงไม้ไผ่เพื่อไว้สำหรับวางเครื่องเซ่นบูชาผีเสื้อนา ที่ปลายเสาทั้ง 5 ปักตาแหลวและกรวยดอกไม้ธูปเทียน ตรงกลางปักตาแหลวใหญ่ การทำพิธีนั้นเจ้าของนาจะเป็นผู้ที่ทำเอง โดยจะมีการเตรียมสะตวงจำนวน 5 ชุด พร้อมด้วยเครื่องบูชาเท้าจตุโลกบาล มีข้าว อาหาร หมาก เมี่ยง บุหรี่ ขนม ลูกส้มของหวาน มะพร้าว อ้อย ข้าวตอกดอกไม้ ช่อธงใส่ในสะตวงอย่างละสี่ เรียกว่า เครื่อง 4 ตั้งไว้ด้านบนแทน
พิธีแรกไถนาหรือแฮกนานั้นนิยมทำมากในอดีตแต่ในปัจจุบันการแฮกนาชาวนาจะแฮกนาในวันที่เป็นมงคล ตามความเชื่อของชาวนนาในเรื่องสิ่งศักดิ์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติในการทำนาปลูกข้าว
พิธีสู่ขวัญควาย
ประเพณีสู่ขวัญควาย เป็นพิธีเรียกขวัญควาย หรือชาวเหนือเรียกว่า ฮ้องขวัญควาย เป็นพิธีที่มักจะทำกันหลังจากเสร็จจากการปลูกข้าวแล้ว เพื่อเป็นการเตือนใจให้ระลึกถึงบุญคุณของควาย ที่ได้ให้แรงงานในการไถนาให้คนสามารถที่จะปลูกข้าวได้ ซึ่งบ้างครั้งในการไถนาอาจมีการเฆี่ยนตี ดุด่าควาย ชาวนาจึงมีการทำพิธีนี้ขึ้นเพื่อเป็นการขอขมาที่ได้ล่วงเกินควาย และยังเป็นการสอนให้คนรู้จักความกตัญญูรู้คุณ มีเมตตากรุณา สำนึกในความผิดของตน ชาวนาจึงหาวิธีการจะตอบแทนบุญคุณของควาย
การทำพิธีสู่ขวัญควาย มีพิธีการเริ่มจากการเตรียมสิ่งของได้แก่ กรวยดอกไม้ , ธูปเทียน 2 ชุด , กระทงหรือสะตวงใส่อาหาร กล้วย อ้อย หมาก เมี่ยง บุหรี่ ไก่ต้ม 1 ตัว , น้ำขมิ้นส้มป่อย , ฝ้ายขาวนับให้มีจำนวน 32 เส้น , หญ้าอ่อน 1 หาบ , น้ำ 1 ถัง และขั้นตั้งหรือขันครู ไว้เพื่ออาจารย์กล่าวคำเรียกขวัญ 1 ชุด ในปัจจุบันการใช้ควายในการไถ่นามีจำนวนน้อยลง เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีการทำนาสมัยใหม่เข้ามามากขึ้นทำให้คนส่วนใหญ่นิยมใช้รถไถ่ในการทำนามากกว่า เพราะการใช้รถไถ่นานั้นสะดวกและรวดเร็วมากกว่าการใช้ควายในการไถ่นาชาวบ้านจึงเลิกใช้ควายในการไถ่นา และนิยมเลี้ยงวัวควายไว้มากกว่าการใช้ไถ่นา
![]() | ![]() |
---|---|
![]() | ![]() |
![]() | ![]() |
![]() | ![]() |
![]() | ![]() |
![]() | ![]() |
![]() | ![]() |
![]() |
พิธีกรรมเพื่อบำรุงรักษา
ช่วงที่ข้าวกำลังเจริญเติบโต เป็นช่วงที่ชาวนาต้องดูแลรักษาต้นข้าวเป็นอย่างดี ชาวนาต้องระมัดระวังศัตรูพืชที่มาทำความเสียหายให้กับข้าว จึงมีความเชื่อในเรื่องประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พิธีเรียกขวัญข้าว หรือ ฮ้องขวัญข้าว การทำขวัญข้าวนั้น เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวนา เมื่อข้าวตั้งท้อง ชาวนาจะทำต๋าแหลวไปปักไว้ที่หัวนา และขอบูชาพระแม่โพสพ ให้รับเครื่องสังเวยเชื่อว่าถ้าได้ทำขวัญข้าว และถ้าพระแม่โพสพได้รับเครื่องสังเวยแล้ว จะไม่ทำให้เมล็ดข้าวล้ม หนอน สัตว์ต่างๆ มากล้ำกราย ได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ พิธีเรียกขวัญข้าว หรือฮ้องขวัญข้าจะทำพิธีในช่วงเดือน 10 ถึงเดือน 12 เป็นช่วงข้าวเริ่มตั้งท้องโดยชาวนานำชะลอมขนาดเล็กบรรจุบายศรี กล้วยสุก มัน เผือกต้ม ดอกไม้ เทียน ข้าวสุกปากหม้อ แป้งหอม น้ำอบ น้ำสะอาด ส้ม ขนมแล้วนำไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 วาปักในนาข้าวผูกชะลอมที่บรรจุเครื่องเซ่นหันไปทางทิศตะวันออก นำผ้านุ่มวางใกล้ๆแล้วจุดธูปอัญเชิญแม่โพสพว่าวันนี้เป็นวันลากวันดีเชิญแม่โพสพมาทานขนมต้มสุก ลูกไม้และอย่าได้มีโรคภัยขอให้ได้ข้าวงอกออกล่วงดี ชาวนาหรือเจ้าของนาจะต้องหาวันฤกษ์ยามที่เป็นวันดีและไม่ตรงกับวันศีลซึ่งเป็นวันอัปมงคล ไม่เหมาะกับการทำกิจกรรม
“ปัจจุบันพิธีกรรมเรียกขวัญข้าวเริ่มเลือนหายไป เนื่องจากว่าไม่มีผู้สืบทอดพิธีกรรมนี้ เนื่องจากว่าชาวนาคิดว่าการทำพิธีเรียกขวัญข้าว หรือฮ้องขวัญข้าวไม่มีผลต่อการเจริญงอกงามของข้าว เพราะผลผลิตที่ได้จากการทำนาขึ้นอยู่กับสภาพดินน้ำอากาศมากกว่า ความเชื่อในเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ”
พิธีปักตาเเหล๋วในการทำนาปลูกข้าวชาวบ้านยังมีความเชื่อในเรื่องของ ตาเหลว หรือ เฉลว ที่ทำจากไม้ไผ่ที่สานหักหรือขัดกันเป็นมุม เหมือนตาชะลอมโดยนิยมทำกันเป็น 3 แฉก 5 แฉก 8 แฉก ไปจนถึง 12 แฉก ตาเหลว ใช้ปักในไร่นาเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายมาทำร้ายข้าว ชาวนาจะนำตาเหลวไปปักไว้ที่หัวนา และขอบูชาพระแม่โพสก ให้รับเครื่องสังเวย ประกอบด้วย กล้วย อ้อย ถั่ว งา ส้ม มัดแขวนไว้กับตาเหลวและนำหมากพลูจีบใส่กรวยไว้หัวนา ป้าศรีนวล ยังได้กล่าวถึง ความเชื่อในการนำตาแหลวมาใช้ว่า “ตาแหลวปักตอนทำนา คนสมัยก่อนบอกว่าข้าวจะเป็นเพลี้ยถ้ามาอยู่จะเอาตะแหลว7ชั้นปักตาให้ไล่ไปอยู่ที่อื่นทุกวันนี้ยังมีการใช้งานอยู่ที่วอแก้วไม่มีพิธีไล่นกไล่หนูแต่จะใช้ระเบิดปิงปองจุดให้เสียงดัง” ตาแหล๋วเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์บ่งบอกถึงเขตหวงห้าม เขตป้องกันสิ่งชั่วร้าย สิ่งไม่ดี ชาวบ้านจะนำเฉลวมาประกอบพิธีต่างๆเกี่ยวกับความเชื่อ อาทิ การสู่ขวัญข้าว สืบชะตา ทำบุญบ้าน ทำบุญเมือง มัดติดหน้าบ้าน ปักบนหม้อยา ปักไว้ในที่ไม่ให้ผีผ่าน
ดังนั้น ตาเหลวถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างหนึ่ง ที่เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งหวงห้ามอันมีเจ้าของอยู่แล้ว เป็นสัญลักษณ์ความพิเศษ เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ป้องกันผีร้ายหรือสิ่งชั่วร้ายทำลายที่จะมาทำร้ายแปลงข้าวในนา ในการสู่ขวัญข้าว ตาเหลวถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันมีให้ผีร้ายเข้ามาทำลายพระแม่โพสพด้วย
พิธีกรรมเพื่อการเก็บเกี่ยวและฉลองผลผลิต
ประเพณีพิธีกรรมข้าวในช่วงนี้เริ่มตั้งแต่ข้าวเหลือได้เวลาเก็บเกี่ยวจนกระทั่งหมด เสร็จแล้วนำข้าวขึ้นทุข้าวหรือตุ๊ข้าว และนำข้าวไปถวายวัดตามความเชื่อของชาวภาคเหนือการทำพิธีในช่วงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวนาได้ผลผลิตมาก เพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการเก็บเกี่ยวและนวดข้าว ให้คนและสัตว์ปลอดภัยในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวและเป็นพิธีเพื่อฉลองผลผลิตที่ได้โดยการแก้บนที่ได้บูชาสังเวยขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครองคนและสัตว์ตลอดฤดูกาลทำนา
ประเพณีเกี่ยวข้าว
การเกี่ยวข้าวของชาวนาอยู่ในช่วงประมาณเดือนยี่เป็ง ทางเหนือ (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) ข้าวในทุ่งนาจะเริ่มสุกสีเหลืองทองพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว ในช่วงนี้ชาวบ้านจะเตรียมอุปกรณ์สำหรับการเก็บเกี่ยวเอาไว้ ก่อนที่ชาวบ้านเจ้าของที่นาจะเกี่ยวข้าวจะต้องหาวันดีสำหรับการเริ่มต้นเกี่ยวข้าว เรียกว่า “วันแรกเกี่ยว” หรือ “วันแฮกเกี่ยว”เจ้าของนาจะนำเครื่องบูชาผีตาแฮกประกอบด้วยไก่ 1 คู่ เหล้าขาว 1 ขวด น้ำ เนื้อย่าง หมากเมี่ยง บุหรี่ ดอกไม้ ธูปเทียน ไปบูชาที่ “ค้างคาวแฮก” บริเวณหัวนาซึ่งใช้เป็นที่ตั้งพิธีกรรม ทำพิธีขอขมาผีตาแฮก ขอขมาแม่โพสพ พร้อมทั้งพระแม่ธรณี จากนั้นก็ลงมือเกี่ยวเอาฤกษ์จำนวน 7-9 กอ หลังจากนั้นประมาณ 4-7 วัน จึงทำการเกี่ยวจริง ในวันเก็บเกี่ยวในวันแรกนั้น ตอนเกี่ยวกับการทำข้าวต้องมีการบอกกล่าวให้กับเจ้าที่นาแม่ธรณีเจ้าที่และต้องพูดแต่สิ่งดีๆคิดอย่างไรก็พูดขอตามความเชื่อ
ประเพณีเอามื้อ เอาวัน
การทำนาปลูกข้าวจะมีการเอามื้อเอาวันเพื่อแลกเปลี่ยนช่วยเหลือกันในการทำนาโดย การเอามื้อเอาวันในการปลูกข้าวจะเริ่มตั้งแต่ฤดูการทำนา ตั้งแต่กระบวนการในช่วงการเพาะปลูกจนมาถึงช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิต “การเอามื้อ” หมายความว่า เมื่อมีคนมาช่วยเราทำนา เราเจ้าของนาจะต้องไปส้าย(ใช้)มื้อ คือช่วยเขาตอบแทนตามจำนวนคนและจำนวนวันของคนที่มาช่วย 1 คนเท่ากับแรงงาน 1 แรงงาน ใน 1 วัน ถ้าเช่น ครอบครัวของนายกล้าหาญ มีลูก 2 คนรวมทั้งพ่อแม่เป็น 4 คน ไปช่วยทำนาเอามื้อกับอีกครอบครัวนายนา ซึ่งมี 2 คน เมื่อครอบครัวนายกล้าหาญมีการปลูกข้าวหรือเกี่ยวข้าว ตีข้าว ครอบครัวนายนา จะต้องไปช่วยส้าย(ใช้)มื้อครอบครัวนายกล้าหาญ 2 วัน ให้เป็น 4 แรงงานเท่ากัน การเอามื้อ เอาวันในแต่ละครั้ง เจ้าของนาจะเลี้ยงดูผู้ที่มาช่วยทำนาด้วยการเลี้ยงอาหารเป็นการตอบแทน
ประเพณีทานข้าวใหม่ (ตานข้าวใหม่)
เมื่อได้ผลผลิตข้าวจากการทำนาปลุกข้าวแล้ว ประชาชนชาวภาคเหนือมีประเพณีทานข้าวใหม่ หรือ เรียกว่าตานข้าวจี่ ข้าวหลามซึ่งจะประกอบพิธีในช่วงวันที่ 15 ค่ำ เดือน 4 เหนือ (เดือนมกราคม) ชาวบ้านจะทำบุญถวายทานข้าวใหม่ที่วัด และก่อกองฟืนที่หน้าวิหารเพื่อจุดไปให้องค์ประธานในวิหารได้ผิงแก้หนาว ในคืนวัน 15 ค่ำ เดือน 4 ด้วยเรียกว่า “กองหลัวหิงพระเจ้า” เพื่อตอบแทนบุญคุณต่อพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ปกปักรักษาคุ้มครองคนในชุมชน และข้าวไม่เสียหายและมีความเจริญงอกงาม ทั้งยังเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษและเทพพญาดาต่างๆ อาหารที่นำไปประกอบพิธีได้แก่ ข้าวเหนียวนึ่งสุก แกงอ่อม ห่อนึ่งไก่ และกับข้าวอื่นๆ ตามความนิยมของชาวบ้าน มีการทำข้าวหลามจากข้าวใหม่มาถวายกันด้วย นอกจากนี้ยังมีเครื่องบูชา ต่างๆ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน หมาก เมี่ยง ยาสูบ น้ำหยาด เป็นต้น นายดำริห์ สุวรรณสุระ กำนันบ้านวอแก้วได้กล่าวถึง ประเพณีทานข้าใหม่ว่า “คนในหมู่บ้านนำข้าวเปลือกข้าวสารใหม่ ข้าวหลาม ข้าวจี่ ข้าวต้ม ขนมจ๊อก อาหาร น้ำตาล น้ำอ้อยไปใส่บาตรและยังมีพิธีบูชากองหลัวถวายเป็นพุทธบูชา คือ พระภิกษุสามเณรและประชาชนชาวพุทธ ไปตัดเอาไม้จี่ ยาวบ้าง สั้นบ้างมาก่อเป็นกองหลัวทำเป็นเจดีย์แล้วจุดบูชาตอนเช้า เป็นการบูชาพระรัตนตรัย โดยความหมายเพื่อเผากิเลส ตัณหาให้หมดไป สมัยนี้มีให้เห็นน้อยเต็มทีเพราะไม้จี๋หายาก ถูกตัดฟันไปหมด ป่าไม้วอดวายไปหมด จนหาดูได้ยากแล้ว”
ดังนั้น ประเพณีทานข้าวใหม่ (ตานข้าวใหม่)ในปัจจุบันยังมีถือเป็นประเพณีทำตลอดจนถึงทุกวันนี้จะทำในช่วงฤดูหนาวหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวใหม่เสร็จ หรือก่อนที่จะรับประทานข้าวใหม่จะต้องนำไปถวายเพราะก่อนเพื่อเป็นสิริมงคล



