




ข้าวไร่
ข้าวไร่ เป็นข้าวที่ปลูกบนพื้นที่สูงหรือบนดอยเป็นส่วนมาก เป็นการใช้ภูมิประเทศที่เป็นทางราดชันให้เกิดประโยชน์ โดยการปลูกข้าวไร่นั้นเป็นการปลูกข้าวร่วมกับพืชชนิดอื่นๆ และมีการหมุนเวียนการใช้ที่ดินในการเพาะปลูก โดยจะทำการปลูกข้าว ถั่วลิสง ข้าวโพด และสับปะรด เป็นพืชที่นิยมปลูกกันมาก การปลูกข้าวไร่จะมีวิธีการปลูกที่ง่ายแต่กว่าจะได้ผลผลิตนั้นจะต้องอาศัยธรรมชาติเป็นหลักในการทำข้าวไร่ เพราะเมื่อมีฝนก็จะมีข้าว หากปีไหนฝนน้อยข้าวจะน้อย แต่วิธีการปลูกข้าวชนิดนี้เป็นการปลูกที่ง่ายกว่าการปลูกข้าวนา เพราะขั้นตอนในการปลูกมีน้อย ไม่ยุ่งยากเท่า วิธีการรักษาเช่นกันที่มีวิธีการดูแลรักษาที่ง่าย
หากแต่ใครหลายๆคนอาจไม่เคยได้ทานข้าวไร่ เพราะส่วนมากการปลูกข้าวไร่จะเป็นการปลูกเฉพาะพื้นที่ และเป็นการปลูกเพื่อบริโภคใสครัวเรือนมากกว่าการปลูกเพื่อเศรษฐกิจนั่นเอง
![]() | ![]() | ![]() |
---|---|---|
![]() | ![]() |
การปลูกข้าวไร่
การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว
การคัดเลือกเมล็ดข้าวที่ใช้ในการปลูกข้าวไร่นั้นถือได้ว่าเป็นหลักการพื้นฐานของการปลูกข้าวเลยก็ว่าได้ เมล็ดข้าวที่นำมาปลูกนั้นจะต้องมีความแข็งแรง ทนทานต่อโรคต่างๆ และต้องเป็นเมล็ดข้าวที่มีความสมบูรณ์เต็มที่ พร้อมที่จะนำไปลงพื้นที่เพาะปลูก
ข้าวไร่ที่ถูกนำมาปลูกนั้น เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มานั้นเป็นการเก็บและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่สมบูรณ์ที่สุด เพื่อนำมาแยกเก็บไว้เพื่อไว้ใช้ในการปลูกข้าวในไร่ถัดไป โดยเมล็ดข้าวที่แยกเก็บไว้นี้ เรียกว่า เชื้อข้าว หรือหัวเชื้อข้าว ที่จะใช้ในการปลูกในปีถัดไปนั่นเอง ทั้งนี้ข้าวไร่ที่ทำการปลูกนั้นมีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ซึ่งมีความหลากหลายในสายพันธุ์อีกเช่นกัน โดยข้าวเจ้าที่ปลูกส่วนมากจะเป็น ข้าวขาว ข้าวแผ่ ข้าวลาย และข้าวเหนียวที่ปลูกจะเป็น ข้าวขาว ข้าวก่ำ ข้าวป่าซาง เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าพันธุ์ข้าวที่นำมาปลูกนั้นเป็นพันธุ์ข้าวที่นิยมปลูกกันโดยทั่วไป และข้าวที่เป็นข้าวพื้นถิ่นของพื้นที่เพาะปลูก
วิธีการปลูก
การปลูกข้าวไร่นั้นมีขั้นตอนการปลูกที่ไม่ยุ่งยากเท่ากับการปลูกข้าวนาที่จะต้องมีการเพาะกล้าก่อนถึงจะนำลงไปปักดำ และการปลูกข้าวนายังสามารถที่จะทำได้หลายวิธีกว่าข้าวไร่ ซึ่งข้าวไร่ที่เราได้ทำการเก็บข้อมูลมานั้นมีวิธีการปลูกข้าวเพียงวิธีเดียว และเป็นวิธีที่สืบทอดต่อกันมาหลายอายุคนแล้ว นั่นคือ การปลูกแบบหยอดหลุม วิธีการปลูกสามารถแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
1.ขั้นตอนการเตรียมพื้นที่การปลูกข้าว
ต้องทำการปรับสภาพพื้นที่ในการปลูกข้าวให้เหมาะสม คือ การถางหญ้าและวัชพืช ออกจากบริเวณที่ใช้ในการปลูกข้าว จากนั้นนำไม้ไผ่ปลายแหลม หรือ เสียม ทำการเจาะรู ขุดหลุม ให้มีขนาดประมาณกำปั้นมือเรา โดยทำการขุดหลุมเรียงกันเป็นแนวไปเรื่อยๆจนทั่วบริเวณที่ต้องการปลูกข้าว
2.ขั้นตอนการใส่เมล็ดข้าว
นำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เตรียมไว้ หรือ เชื้อข้าวที่เตรียมไว้ นำมาใส่ลงไปในรูหรือหลุมที่เตรียมไว้ ในปริมาณที่พอเหมาะหรือประมาณ1หยิบมือ เพราะในข้าวที่ใส่ลงไปนั้นอาจไม่ได้งอกออกเป็นต้นทุกเมล็ด จะต้องมีบางเมล็ดที่ไม่สามารถแตกตัวออกมาได้ แต่หากหลุมไหนเกิดเป็นต้นขึ้นมาจำนวนมากเกิน จะทำการแยกกอข้าวออกมาบางส่วนและนำไปปลูกในพื้นที่สำรอง
3.ขั้นตอนการกลบหลุม
หลังจากที่นำเชื้อข้าวใส่ลงหลุมครบทุกหลุมแล้ว จะทำการนำดินมากลบปิดปากหลุมเพื่อไม่ให้นกหรือแมลงอื่นๆมากัดกิน แต่ในบางพื้นที่จะไม่ทำการกลบปากหลุม แต่จะรอให้น้ำฝนที่ตกลงมาชะหน้าดินให้มาปิดปากหลุมเอง ถือได้ว่าเป็นการพึ่งพิงธรรมชาติอย่างมาก
การดูแลรักษา
น้ำ หลังจากที่ได้เริ่มทำการปลูกข้าวไร่แล้วชาวบ้านจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธรรมชาติในการดูแลคือการรดน้ำพรวนดินจากสายฝนที่ตกลงมา กล่าวคือ น้ำที่ใช้ในการปลูกข้าวไร่จะเป็นน้ำฝนเพียงอย่าง หากปีไหนที่มีฝนตกชุก ข้าวในปีนั้นจะได้ผลผลิตที่เยอะและมีเมล็ดที่สมบูรณ์ แต่หากปีไหนฝนตกไม่มากนัก ข้าวในปีนั้นจะให้ผลผลิตที่น้อยและเมล็ดข้าวที่ได้จะไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร ทำให้รู้สึกถึงการขาดทุน ในการปลูกข้าว ชาวบ้านจพทำการปลูกรอบสอง คือการปลูกข้าวเพิ่มจากเดิมที่ปลูกในรอบแรก ส่งผลให้บางปีมีการเก็บเกี่ยวถึงสองครั้งเพื่อรอให้ข้าวออกรวงเต็มที่จากข้าวทั้งสองรอบที่ได้ปลูก
ศัตรูพืช และ วัชพืช เนื่องจากการปลูกข้าวไร่ต้องทำการปลูกเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น ทำให้หญ้าและวัชพืชเติบโตเร็วเช่นกันจะต้องทำการถอนทิ้งเพื่อไม่ให้วัชพืชเหล่านี้มาแย่งอาหารไปจากต้นข้าวที่เราปลูก แต่ด้วยพื้นที่ในการปลูกข้าวไร่เป็นดอย เป็นพื้นที่สูง และมีบริเวณกว้าง ทำให้แรงงานคนเพียงอย่างเดียวไม่ทันต่อการเติบโตของวัชพืชเหล่านั้นทำให้ชาวบ้านหันไปเพิ่งสารเคมีในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช เพื่อลดการใช้แรงงานคนที่ไม่เพียงพอ
ดิน การเตรียมดินถือได้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน เนื่องจากพื้นที่ทำการปลูกข้าวไร่เป็นพื้นที่สูงและราดเอียง ทำให้เวลาฝนตกฝนจะชะล้างหน้าดินลงไปพร้อมสารอาหารและแร่ธาตุต่างๆในดินออกไปด้วย การปลูกพืชหมุนเวียนเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เป็นการฟื้นฟูดินให้ยังคงมีแร่ธาตุสารอาหารหลงเหลืออยู่บ้าง และยังถือได้ว่าเป็นการใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกให้เกิดประโยชน์อีกด้วย เพราะฤดูที่ไม่ใช่ฤดูฝนจะทำการปลูกพืชชนิดอื่นๆเข้ามาเพื่อเป็นช่องทางหารายได้และบำรุงดิน เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด สับปะรด เป็นต้น หรือจะเป็นการใช้ ปุ๋ยเคมี เข้าช่วยบำรุงดินให้มีแร่ธาตุสารอาหารมากยิ่งขึ้น เพราะเนื่องจากฝนที่ชะล้างหน้าดินที่ได้พูดถึงไปแล้วนั้นทำให้ดินสูญเสียแร่ธาตุสารอาหารไป ชาวบ้านจำเป็นต้องหาสารอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของข้าวมาบำรุงให้ต้นข้าวออกผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการ
การเก็บเกี่ยว
หลังจากปลูกข้าวได้ประมาณ 4 เดือน ต้นข้าวจะออกรวงพร้อมที่เก็บเกี่ยว โดยในการเก็บเกี่ยวข้าวชาวบ้านจะเกี่ยวข้าวด้วยวิธีการลงแขก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า การเอามื้อ คือ การที่ทุกคนในชุมชนช่วยกันเกี่ยวข้าวในแต่ละไร่ และจะทำสลับกันเช่นนี้จนครบทุกไร่ แต่ในบางไร่จะมีการจ้างแรงงานคนเข้ามาเป็นแรงงานหลักในการเก็บเกี่ยวข้าวในไร่ แต่จะไม่มีการใช้รถหรือเครื่องจักรเข้ามาช่วยเก็บเกี่ยวข้าว เพราะเนี่องจากพื้นที่ที่ทำการปลูกข้าวเป็นพื้นที่ภูเขา มีพื้นผิวที่ไม่เรียบ และเป็นทางราดชันเสียส่วนใหญ่ ทำให้ต้องใช้แรงงานคนเป็นกำลังหลักในการเก็บเกี่ยวข้าว
![]() | ![]() | ![]() |
---|---|---|
![]() | ![]() | ![]() |
การตีข้าว
การตีข้าวของข้าวไร่จะคล้ายกับของข้าวนา คือหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว จะนำต้นข้าวที่เกี่ยวมาได้นั้นมัดรวมกันเป็นกำๆขนาดไม่ใหญ่มากนัก แล้วใช้ไม้สองท่อน หรือเรียกว่า ไม้หีบ เอาไว้ยึดมัดข้าวแล้วฟาดมัดข้าวลงกับตะแกรงไม้ที่มีช่องว่างพอให้เมล็ดข้าวร่วงลงไปยังพื้นที่เตรียมไว้ โดยวิธีการตีข้าวแบบนี้เป็นวิธีที่ทำมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
การทำความสะอาดเมล็ด
การทำความสะอาดเมล็ดข้าว หรือ การสีข้าว คือ การที่นำเมล็ดข้าวที่หลุดออกจากรวงข้าวแล้วมาทำการเอาเปลือกนอกออกเพื่อพร้อมใช้ประกอบอาหาร ซึ่งการสีข้าวของข้าวไร่นี้ได้มีการสีข้าวด้วยกัน 2 วิธีหลักๆ ดังนี้
1.การตำข้าว
การตำข้าว คือการที่นำข้าวเปลือกที่ได้มานั้นใส่ลงในครกขนาดใหญ่และมีการใช้สากหรือไม้ขนาดใหญ่ตำลงไปไม่แรงมากนัก เพื่อให้เปลือกข้าวหลุดออกจากตัวเมล็ดข้าวและตัวของเมล็ดข้าวไม่หักมากนัก หลังจากตำข้าวในครกเสร็จเรียบร้อยแล้วจะนำข้าวในครกทั้งหมดเทลงพื้นที่เตรียมไว้ หรือแบ่งออกใส่ภาชนะใหญ่ๆ แล้วใช้พัดขนาดใหญ่ทำการพัดเปลือกข้าวที่หลุดออกจากตัวเมล็ดข้าวให้ปลิวไป วิธีการตำข้าวเป็นวิธีที่มีมาตั้งแต่อดีตเพราะในอดีตยังไม่มีเครื่องจักรกลมาใช้ในการทำการสีข้าวนั่นเอง และในปัจจุบันยังมีการใช้ครกตำข้าวเช่นนี้อยู่เพียงไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่ล้วนแต่หันไปใช้เครื่องจักรทุ่นแรง
2.การใช้เครื่องสีข้าว
การใช้เครื่องสีข้าวเป็นการสีข้าวแบบยุคใหม่ที่ในปัจจุบันได้มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อลดระยะเวลาและกำลังคนลง ในการทำข้าวไร่จากพื้นที่พบว่า ที่หมู่บ้านแม่เลียงพัฒนามีอยู่จำนวนหนึ่งเครื่อง และเป็นเครื่องสีข้าวส่วนบุคคล แต่มีการอนุญาตให้ชาวบ้านคนอื่นๆสามารถนำข้าวจากไร่ไปสีได้ เพียงแต่ต้องจ่ายค่าไฟให้กับเจ้าของเครื่องสีนั่นเอง
![]() | ![]() | ![]() |
---|---|---|
![]() | ![]() |
การตากข้าว
การตากข้าวของข้าวไร่มีการตากข้าวที่เมือนข้าวนาเช่นกัน คือการที่นำข้าวที่ตีออกจากรวงแล้วมาตากแดดโดยประมาณ 2-3 แดดขึ้นไป เพื่อเป็นการไล่ความชื้นออกจากตัวเมล็ดข้าว ทำให้เปลือกข้าวหลุดออกจากตัวเมล็ดข้าวได้ง่ายและยังสามารถยืดอายุการเก็บของข้าวไว้ได้นานขึ้นอีกด้วย เพราะข้าวที่มีความชื้นน้อยถึงขั้นแห้งจะไม่ขึ้นราง่ายและไม่เกิดไอน้ำจากการคายน้ำของเมล็ดข้าวทำให้ข้าวเน่าเสียเร็วขึ้นอีกด้วย
การเก็บรักษาข้าว
ขั้นตอนของการเก็บรักษาข้าวจะทำหลังจากที่ตากข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยการเก็บรักษาข้าวนั้นจะเก็บทั้งๆที่ยังไม่สีข้าวเลยก็ได้คือการเก็บข้าวเปลือกไว้เพื่อปลูกต่อไปหรือยังไม่อยากสีข้าวออกมาก็สามารถที่จะเก็บข้าวเปลือกใส่กระสอบไว้และนำขึ้นไปไว้ที่ยุ้งฉาง (ยุ้งฉากคือบ้านหลังเล็กๆที่เอาไว้เก็บรักษาข้าวไม่ให้ถูกขโมยไป หรือถูกสัตว์ต่างๆเข้าไปทำลายข้าวนั่นเอง) หรืออีกวิธีคือการเก็บรักษาข้าวที่สีเสร็จแล้ว ซึ่งการเก็บข้าวสารที่สีเสร็จเรียบร้อยพร้อมจะนำไปบริโภคได้เลยโดยการเก็บใส่ภาชนะที่ปิดมิดชิดและเก็บไว้ในครัวเรือนได้เลย