




ข้าวนา
การปลูกข้าวแบบแปลงนา หรือเรียกง่ายๆว่าการทำนา เป็นการปลูกข้าวรูปแบบหนึ่งที่มีความนิยมกันอย่างมาก โดยการปลูกข้าวนานั้นส่วนมากจะปลูกกันในบริเวณพื้นที่ลุ่ม หรือพื้นที่ที่มีน้ำขัง พืื้นผิวดินจะต้องมีความเรียบสม่ำเสมอกัน และต้องมีน้ำไหลผ่านที่ดินเพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการผันน้ำเข้านาใช้ในการปลูกข้าว
การจัดสันปันส่วนของที่ดินแปลงนานั้นส่วนใหญ่จะปลูกข้าวอย่างเดียว แต่ยังมีบางส่วนที่ได้ทำการหมุนเวีนยที่ดินเพื่อเป็นการบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ โดยการปลูกพืชหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เช่น ปลูกข้าว ปลูกถั่ว ปล่อยรกร้าง เป็นต้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพที่ดินบริเวณนั้นๆ ชาวนาส่วนใหญ่ที่ทำการหมุนเวียนพื้นดินทำนาอาจจะเป็นชาวนาที่มีพื้นที่ในการทำนาที่กว้างขวางเลยสามารถที่จะหมุนเวียนพืชชนิดต่าๆงได้ดีกว่าผู้ที่มีที่ดินจัดสรรน้อยกว่านั่นเอง
![]() | ![]() | ![]() |
---|---|---|
![]() | ![]() |
การปลูกข้าวนา
การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว
การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ควรเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะกับฤดูที่จะปลูกและคุณภาพเมล็ดที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค พันธุ์ข้าวที่ดีจะต้องเป็นพันธุ์ที่ผู้ปลูกและผู้บริโภคต้องการ จากการสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้าน ได้ข้อมูลว่า ชาวบ้านปลูกข้าวเหนียวสายพันธุ์ กข.10 ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวมากจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว แต่คนส่วนใหญ่จะซื้อจากสหกรณ์ห้างฉัตร ปัจจุบันได้มีการปลูกข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง 1 พันธุ์สันป่าตอง 2 เนื่องจากข้าวสองพันธุ์นี้ให้ผลผลิตที่สูงและยังให้กำไรที่เพิ่มมากขึ้น
วิธีการปลูก
การปลูกข้าว มีทั้งการปลูกข้าวแบบนาดำ และปลูกข้าวแบบนาหว่าน จากการสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้าน ได้ข้อมูลว่า
การปลูกข้าวแบบนาดำ ต้องมีการไถแปรดินประมาณ 1 ไร่ และขังน้ำไว้เพื่อให้ดินร่วน จากนั้นก็ไถพรวน 2 ครั้ง เพื่อให้ดินมีความละเอียดเท่ากัน จากนั้นจึงนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ต้องการปลูกไปแช่น้ำประมาณ 3 คืน และนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปหว่านบนดินที่เตรียมไว้เพื่อให้งอกและเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นข้าวเล็กๆ หรือเรียกกันว่า ต้นกล้า พื้นที่นาสำหรับปักดำควรมีน้ำขังอยู่ในนาประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นข้าวได้รับความเสียหายจากลมหลังจากการปักดำไปแล้วนั่นเอง หลังจากที่ได้ต้นกล้าจากการหว่านเมล็ดพันธุ์มาแล้ว ชาวบ้านจะช่วยกันถอนต้นกล้าออกและนำต้นกล้ามาดำในพื้นที่นาที่เตรียมไว้ โดยใช้ต้นกล้าปักดำลงไปกอละ 3-5 ต้น และควรปักดำให้เป็นแถวและมีระยะระหว่างกอห่างกันประมาณ 20-25 เซนติเมตร
การปลูกข้าวแบบนาหว่าน เริ่มจากการเตรียมดินโดยการไถดะ ไถแปร และคราด เพื่อเป็นการกำจัดวัชพืชที่ขึ้นในช่วงที่ไม่ได้ทำนาออกไปจากนาและต้องทำการย่อยดินให้แตกเป็นก้อนเล็กๆ พร้อมกับการปรับหน้าดินให้มีระดับพื้นที่นาที่ให้ความเรียบเสมอ จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ข้าวมาหว่านและไถกลบอีกรอบ สุดท้ายก็รอการเจริญเติบโตของข้าว โดยไม่ต้องมีการถอนกล้าเช่นการปลูกข้าวแบบนาดำ
การทำนาดำจะได้ผลผลิตสูงกว่าการทำนาหว่าน เพราะรวงข้าวของนาดำจะได้รวงใหญ่ แต่รวงข้าวนาหว่านจะได้รวงเล็ก ถึงอย่างไรก็ตาม คนปัจจุบันนิยมทำนาหว่านมากกว่า เนื่องจากมีการใช้เครื่องจักรยนต์แทนแรงงานคน
การดูแลรักษา
จากการสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้าน ได้ข้อมูลว่า หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้วเมื่อเมล็ดพันธุ์ข้าวได้รับความชื้นจากน้ำที่ขังแล้วก็จะงอกเป็นต้นข้าว โดยต้นข้าวตั้งแต่เริ่มงอกจะอาศัยอาหารจากแป้งของเมล็ดหรือเอ็นโดสเปิร์ม หลังจากนั้นต้นข้าวก็จะใช้รากหาอาหารจากภายนอก ได้แก่ น้ำและปุ๋ยจากดิน สำหรับใช้ในการเจริญเติบโตต่อไปจนกระทั่งออกรวง ในระยะนี้ต้นข้าวอาจจะต้องแย่งอาหารกับวัชพืชที่ขึ้นโดยรอบ และอาจจะถูกทำลายโดยโรคต่างๆและแมลงศัตรูข้าว ทำให้ต้นข้าวตายหรือเจริญเติบโตช้า ดังนั้นนอกจากจะมีวิธีการปลูกข้าวที่ดีแล้ว ชาวบ้านจำเป็นจะต้องมีวิธีการดูแลรักษาที่ดีด้วย โดยการดูแลรักษาที่ว่านี้ได้แก่ การหมั่นตรวจดูแลต้นข้าวในแปลงนาอย่างสม่ำเสมอถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะจะได้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและทำการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันการ
![]() | ![]() | ![]() |
---|---|---|
![]() | ![]() | ![]() |
การเก็บเกี่ยว
เมื่อต้นข้าวออกรวงได้ประมาณ 2 เดือน ชาวบ้านจะทำการเก็บเกี่ยว โดยในสมัยก่อนการเก็บเกี่ยวจะมีการใช้แรงคนเป็นส่วนใหญ่ หรือเรียกว่า “การลงแขก” คือ การที่ขาวบ้านช่วยบ้านหลังนี้เก็บเกี่ยวข้าวจนเสร็จและในวันต่อมาก็ไปช่วยเก็บเกี่ยวข้าวของอีกบ้านอีกหลังหนึ่ง เป็นการทำต่อไปเรื่อยๆจนครบทุกบ้าน ซึ่งวิธีการลงแขกต้องใช้เวลานานกว่าจะเก็บเกี่ยวเสร็จ แต่ในปัจจุบันชาวบ้านได้มีการหันมาใช้เครื่องเกี่ยวข้าวและรถเกี่ยวนวด เพื่อเป็นการลดการใช้แรงงานคน โดยการใช้เครื่องจักรยนต์เข้ามาช่วยนั้นถือได้ว่าเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายและรวดเร็ว รวมทั้งไม่เสียเวลาในการเก็บเกี่ยว เป็นการร่นระยะเวลาไปได้มาเลยทีเดียว
การตีข้าว
การตีข้าว หรือ การนวดข้าว ในสมัยก่อนการนวดข้าวจะเป็นแบบฟาดกำข้าว ชาวนาจะเกี่ยวข้าวมาทั้งต้นและทำการนวดข้าวในพื้นที่นา โดยเอากำข้าวฟาดรวงลงบนแผ่นไม้ที่วางไว้บนภาชนะสำหรับรองรับเมล็ดข้าวที่หลุดออกมาจากรวงข้าว ซึ่งต่อมาจะมีวิธีการนวดข้าวโดยใช้เครื่องนวดเป็นการนวดด้วยเครื่องนวดที่ใช้แรงคนและแรงของเครื่องจักร แต่ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ได้หันมาใช้รถเกี่ยวนวดข้าวมากขึ้น โดยรถที่ใช้เกี่ยวนวดข้าวนั้นจะสามารถเก็บเกี่ยวข้าวและนวดข้าวไปพร้อมๆกันได้ ส่งผลทำให้การเก็บเกี่ยวและการนวดข้าวทำงานได้รวดเร็ว ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้แรงงานคนเพียงอย่างเดียว
การทำความสะอาดเมล็ด
เมล็ดข้าวที่ได้จากการนวดด้วยแรงคนอาจมีสิ่งเจือปนมากกว่าข้าวที่ได้จากการนวดด้วยเครื่องนวดและรถเกี่ยวนวด สิ่งเจื้อปนเหล่านี้ได้แก่ ดิน กรวดทราย เศษฟาง เป็นต้น ซึ่งคนสมัยก่อนจำเป็นต้องทำความสะอาดเมล็ดก่อนที่จะเอาเมล็ดข้าวเปลือกเข้ายุ่งฉางหรือนำไปขาย โดยเริ่มจากการสาดข้าว สาดเมล็ดข้าวขึ้นไปบนอากาศ เพื่อให้ลมช่วยพัดเอาสิ่งเจือปนออกไป ส่วนเมล็ดข้าวเปลือกที่ดีจะตกลงมารวมกันเป็นกองที่พื้น หรืออาจใช้กระด้งฝัดข้าว โดยการร่อนข้าวเปลือกในกระด้งให้แยกออกจากสิ่งเจือปนไปอยู่คนละด้านแล้วฝัดเอาสิ่งเจือปนทิ้งไปหรือปลิวไปตามแรงลม และในปัจจุบันก็ยังมีคนที่ใช้วิธีการดังกล่าวอยู่แต่เหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
![]() | ![]() | ![]() |
---|---|---|
![]() | ![]() | ![]() |
![]() |
การตากข้าว
ข้าวที่เก็บเกี่ยวมาใหม่ๆโดยเฉพาะข้าวที่เกี่ยวด้วยรถเกี่ยวนวด จะมีความชื้นของเมล็ดข้าว โดยหลังจากการนวดข้าวเสร็จแล้วชาวนาจำเป็นต้องนำข้าวที่ได้มานั้นตากแดดบนลานกว้างที่มีพื้นที่พอที่จะสามารถกระจายเมล็ดข้าวออกเพื่อให้ได้รับแสงแดดและลมอย่างทั่วถึง ซึ่งการตากข้าวจะใช้ระยะเวลาโดยประมาณ 2-3 วัน เพื่อลดความชื้นของเมล็ดข้าวจากนั้นจึงนำข้าวที่แห้งแล้วใส่ถุงกระสอบมัดปิดปากกระสอบให้เรียบร้อยและเก็บไว้บนยุ้งฉาง การทำเช่นนี้จะทำให้เมื่อนำข้าวไปขายจะได้ราคาดี
การเก็บรักษาข้าว
หลังจากที่ชาวบ้านได้นวดข้าวและตากเมล็ดข้าวเปลือกแล้ว จะต้องเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางเพื่อบริโภคและไว้ขายเมื่อข้าวมีราคาสูง และข้าวอีกส่วนหนึ่งจะต้องแบ่งเก็บไว้เพื่อทำข้าวพันธุ์สำหรับการปลูกในครั้งต่อไป จากอดีตจนถึงปัจจุบันยังใช้ยุ้งฉางในการเก็บรักษาข้าว เพื่อไม่ให้สัตว์หรือแมลงเข้าไปทำลายข้าว