top of page
พิธีกรรม ความเชื่อ และ ประเพณีที่ใช้ในการปลูกข้าวไร่
 

              ในการปลูกข้าวไร่นั้นมีการทำพิธีกรรมและประเพณีต่างๆที่เกี่ยวกับความเชื่อของชาวนาในพื้นที่ดังต่อไปนี้

 

                         พิธีเลี้ยงผีก่อนทำไร่
 

                                     พิธีการเลี้ยงผีการปลูกข้าวไร่จะทำต่อเมื่อข้าวกำลังเริ่มตั้งท้อง ผีที่ทำพิธีเลี้ยงเรียกว่า พิธีการเลี้ยงผีไฟ หรือ ผีพราย เป็นผีป่าผีดอย โดยพิธีเลี้ยงผีทำเผื่อเป็นการบอกแก่ผีป่าผีดอยให้คอยดูแลรักษาข้าวที่กำลังออกรวง เครื่องเซ่นที่ใช้ในพิธีกรรมจะมีของจำพวก หมากพลู เหล้า 1 ขวด ไก่ 2 ตัว ไข่ต้ม และอื่นๆตามความเหมาะสม

                                สมาชิกในหมู่บ้านโดยส่วนมากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มีความเชื่อเรื่องการเลี้ยงผีไฟที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวบ้านเชื่อกันว่า ถ้าทำพิธีเลี้ยงผีไฟแล้ว ทำให้ข้าวที่ปลูกไว้งอกงาม อุดมสมบูรณ์ ไม่มีแมลงหรือผีสาง เทวดา มารบกวน และจะทำให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุข การเลี้ยงผีไฟนิยมทำกันในเดือนสิงหาคมของทุกปี พิธีจะทำกันที่ไร่นา ของใครของมันพิธีเลี้ยงผีไฟจะทำกันหลังจากปลูกข้าวแล้วเสร็จ ประมาณ 2 เดือน

                                สิ่งที่ต้องเตรียมในการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีไฟนั้นคือ ไก่ ๑ คู่ เหล้า ๑ ขวด หัวหน้าครอบครัวต้องเป็นคนเตรียมสิ่งเหล่านี้ในการเลือกไก่นั้น ไก่ตัวผู้ต้องเป็นไก่ตัวสีแดงเท่านั้นห้ามเอาไก่สีอื่น ส่วนไก่ตัวแม่นั้นจะเอาสีอะไรก็ได้ พอรุ่งเช้าต้องไปบอกเจ้าผีไฟว่าจะมาเลี้ยง  ในการเริ่มพิธีมีการต้องไม้ไผ่เอามาผ่าเป็นชิ้นเพื่อทำเป็นเสาโดยเอาไม้ไผ่ปักไว้สี่มุมเพื่อทำที่วางเครื่องสังเวย หลังจากนั้นหัวหน้าครอบครัวจะบอกกล่าวว่า “ วันนี้ครอบครัวของข้าพเจ้าจะมาเลี้ยงผีไฟ ” พอหลังจากนั้นเอาไก่ที่เตรียมไว้มาเชือดคอหยดลงบนไม้ไผ่ที่เราเตรียมไว้ และเอาเลือดแปะที่เสาสีต้นด้วย จากนั้นก็เอาไก่ไปถอดขนให้หมดแล้วผ่าเอาเครื่องในของไก่ส่วนหนึ่งมาวางไว้ในใบไม้เพื่อเป็นเครื่องสังเวยจากนั้นนำไก่ทั้งตัวไปต้มให้สุกแล้วฉีกเนื้อไก่ ขาไก่ ปีก เครื่องในที่สุกแล้วส่วนหนึ่งเอาไปวางไว้ในใบไม้เพื่อเป็นเครื่องสังเวยจากนั้นเราก็ฉีกเนื้อต่างๆที่เราต้มสุกแล้วนำมากินกันในครอบครัวหลังจากกินเสร็จก็ต้องออกไปนอกไร่ซักประมาณ ๓๐ นาที แล้วหัวหน้าครอบครัวก็ลงมาที่ไร่ คนที่รอจะตะโกนว่าหายไปหมดหรือยังหัวหน้าครอบครัวตะโกนกลับไปว่า หายไปหมดแล้ว (หายในที่นี้คือบอกเจ้าผีไฟว่าได้เดินทางกลับไปหมดแล้ว)

 

                        พิธีปักต๋าแหลว
 

                                 ตาแหลว หรือ ต๋าแหลวในภาษาเหนือนั้นมีความเชื่อกันว่าเป็นสิ่งมงคล ต๋าแหลวคือสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์บ่งบอกถึงเขตห่วงห้าม เขตป้องกันสิ่งชั่วร้าย สิ่งไม่ดี โดยชาวบ้านจะนำต๋าแหลวมาประกอบพิธีต่างๆเกี่ยวกับความเชื่อ อาทิ การสู่ขวัญข้าว สืบชะตา ทำบุญบ้าน ทำบุญเมือง มัดติดหน้าบ้าน ปักบนหม้อยาเพื่อรักษาสรรพคุณ ปักไว้ในที่ไม่ใช้ผีผ่าน  ก่อนการปลูกข้าวจะทำการปักต๋าแหลวพร้อมนำต้นดอกเอื้องหมายนาไปปลูกคู่กันกับต๋าแหลวเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงอาณาเขตโดยปักไว้ทั้งสี่ทิศของนา เพื่อเป็นการบอกว่าจะทำการปลูกข้าวในบริเวณนี้ ห้ามสิ่งชั่วร้ายใดๆผ่านที่บริเวณนี้ ซึ่งพิธีการปักต๋าแหลวจะทำก่อนการเริ่มลงมือปลูกข้าว

 

                        ประเพณีตานข้าวใหม่
 

                               หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจะนำข้าวไปใส่ยุ้งฉางโดยจะทำบุญก่อนที่จะบริโภค เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลแก่เทพยดาและแม่โพสพให้ช่วยคุ้มครองดูแลข้าวเปลือกในยุ้งฉางไม่ให้สิ่งอื่นมารบกวนข้าวเปลือก ประเพณีการตานข้าวใหม่จะตรงกับวันเพ็ญเดือนสี่ซึ่งเป็นกลางฤดูหนาว ในเช้ามืดของวันนั้นจะนำข้าวสารหรือข้าวเปลือกไปวัดแล้วเอาไปกองรวมกันไว้ ก่อนถึงวันตานข้าวใหม่ ประมาณ 7 วัน ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกหรือข้าวสารมารวมกันไว้ในวัด ปัจจุบันชาวบ้านจะตกลงกันเองว่าจะตานข้าวเปลือกหรือข้าวสาร ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าหลังจากได้ข้าวใหม่ใส่ยุ้งฉางแล้ว จะต้องตานข้าวใหม่ให้ญาติที่ล่วงลับไปได้กินข้าวใหม่เหมือนกับตนเอง และให้พระภิกษุสามเณรได้ฉันข้าวใหม่แต่ในทางปฏิบัติสืบทอดกันมาว่าการตานข้าวใหม่ชาวบ้านนอกจากจะทำบุญไปหาญาติที่ล่วงลับไปแล้วแต่ปัจจุบันหลังจากรับตานข้าวแล้ววัดจะขายข้าวเพื่อนำเงินมาใช้ประโยชน์และบำรุงวัดอีกด้วย

  • Facebook - Black Circle
  • Instagram - Black Circle
  • Google+ - Black Circle
  • Twitter - Black Circle
  • Tumblr - Black Circle

@2015 by วัฒนธรรมข้าว จาวเวียงละกอน | สส.443 สัมนาประเด็นการจัดการทรัพยาการทางสังคมและวัฒนธรรม
วิทยาลัยสหวิทยาการ | มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์ลำปาง)

bottom of page